สัมผัสวัฒนธรรมในเมืองกรุง
แหล่งเที่ยวสบายชิล..ชิลแค่วันเดียว

LINE it!

     หลายคนมักจะแสวงหาที่เที่ยวตามต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่  เลยทำให้มองข้ามว่าในเมืองกรุงจะมีที่เที่ยวที่ไหนบ้าง  แต่จริง ๆ แล้วในมุมมองของคนชอบเที่ยวการได้ไปสัมผัสวัฒนธรรมของชุมชนต่าง ๆ ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการเที่ยวพักผ่อนเช่นกัน เพราะทำให้เราเหมือนได้ย้อนไปในอดีตมองเห็นเรื่องราวในสมัยก่อนที่หลงเหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเก่าแก่ วัดวาอาราม หรือแม้แต่โบสถ์คริตส์ ซึ่งสถานที่เหล่านี้ล้วนแต่มีความทรงจำที่ดีเพื่อให้ทุกคนได้เยือนสักครั้งหนึ่ง     



     ประเดิมที่แรกกับอดีตของวันวานที่ ร้าน ออน ล๊อก หยุ่น ลักษณะเป็นตึกแถวเก่าแก่ คูหาเดียว 2 ชั้น ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุงใกล้ศูนย์การค้า ดิโอลด์ สยาม พลาซ่า เปิดบริการมานานกว่า 70 ปี เป็นร้านกาแฟที่บริการอาหารเช้าแบบฝรั่งหรือ American breakfast ที่เราคุ้นหูคุ้นตาตามสถานที่พักแรมต่างๆ แต่ยังคงเอกลักษณ์ย่านคนจีนสมัยก่อน มีบริการเสิร์ฟน้ำชาร้อนฟรีให้ลูกค้าที่สั่งอาหาร และสามารถขอเพิ่มได้ตลอดตามต้องการ รูปแบบการจัดวางอาหารเรียบง่ายไม่ได้พิถีพิถันตามแบบฝรั่ง ยังคงบรรยากาศสบายๆ เป็นกันเอง และราคาอาหารไม่แพง

     จุดหมายแรกคือ ชุมชนกุฎีจีน หรือ กะดีจีน คำว่ากุฎีเป็นคำที่ใช้เรียกศาสนสถานของศาสนา เช่น กุฎีเจ้าเซ็นและภุฎีขาวเป็นมัสยิดหรือสุเหร่าของชาวมุสลิม กุฎีจีนเป็นศาลเจ้าของชาวจีน ซึ่งในสมัยโบราณเรียกว่า กะดี สถานที่แห่งนี้เคยเป็นย่านชุมชนของพ่อค้าชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 200 ปี ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี การท่องเที่ยวย่านนี้เสน่ห์อยู่ตรงที่ใช้วิธีเดินเท้าเข้าไป ทำให้ตลอดเส้นทางได้เห็นวิถีชีวิตของคนในชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สมัยโบราณเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนหลากหลายเชื้อชาติทั้ง ไทย จีน ฝรั่ง ญวน มอญ เป็นต้น อพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณด้านทิศใต้ของคลองบางหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนา จึงเป็นที่มาของคำว่า “3 ศาสนา และ 4 ความเชื่อ”



     สำหรับ 3 ศาสนา ได้แก่ พุทธ คริสต์ และอิสลาม โดยความเชื่อแรกเป็นของชาวคริสต์นิกายคาทอลิกที่อาศัยบริเวณโบสถ์ซางตาครู้ส เป็นโบสถ์เก่าแก่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินหรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระราชทานที่ดินให้แก่คุณพ่อกอรร์ บาทหลวงชาวฝรั่งเศส จากนั้นได้รวบรวมชาวบ้าน และชาวคริสตัง และชาวโปรตุเกสที่อพยพ มาช่วยสร้างโบสถ์แห่งนี้



     สำหรับกลุ่มคริสตชน ชาวโปรตุเกสขอเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารตรงกับวันที่ 14 กันยายน 2312 เพื่อเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญนั้น คุณพ่อกอรร์ฯ จึงตั้งชื่อที่ดินรวมถึงโบสถ์ที่สร้างขึ้นว่า ซางตาครู้ส ภาษาโปรตุเกสแปลว่าไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์ กาลเวลาทำให้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ชำรุด ทรุดโทรม จึงมีการบูรณะล่าสุดเป็นครั้งที่ 3 ในปี 2456 สถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียนสมัยเรเนซองส์หรือเรียกว่า นีโอ คลาสสิก (ข้อมูลอ้างอิงมาจาก สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี)

     ความเชื่อที่ 2 ของชาวพุทธนิกายเถรวาท นับถือสักการะพระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อโตแห่งวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ที่สร้างขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เป็นที่เคารพสักการะของกลุ่มชาวจีน มีความเชื่อด้านขอพรเรื่องการเดินทางปลอดภัย แคล้วคลาดจากสิ่งชั่วร้าย และพบมิตรที่ดี



    พระพุทธไตรรัตนนายก หรือคนจีนเรียกว่า ซำปอกง คนไทยเรียกว่าพระโต หรือหลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 11.75 เมตร สูง 15.46 เมตร องค์พระสีเหลืองอร่ามทั้งองค์ ตามประวัติรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานช่วยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ว่าที่สมุหนายก ท่านทรงมีความตั้งใจให้วัดแห่งนี้มีลักษณะเหมือนวัดพนัญเชิง วรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มีพระโตนอกกำแพงเมือง และทรงนำเคล็ดลับชื่อโต เมื่อรวมความหมายกับเจ้าพระยานิกรบดินทร์มิตรที่ดีของท่าน วัดแห่งนี้จึงชื่อว่า วัดกัลยาณมิตร หรือมิตรที่ดี 





     ความเชื่อที่ 3 ของชาวพุทธนิกายมหายานเคารพสักการะ ศาลเจ้าเกียนอันเก๋ง ศาลเจ้าของชุมชนชาวจีนในย่านนี้ ที่มีองค์พระประธานเป็นพระโพธิสัตว์กวนอิม สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ไม่มีประวัติเป็นลายลักษณ์อักษร แต่จากคำบอกเล่าสืบทอดกันมาว่าเป็นศาลเจ้าที่สร้างขึ้นโดยคนจีนที่ตามเสด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มาตั้งถิ่นฐานอยู่ปากคลองบางหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่ฝั่งตะวันออก มีการสันนิษฐานว่า ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นที่มาของคำว่า กุฎีจีน แต่เดิมมีศาลเจ้า 2 ศาลตั้งใกล้เคียงกัน ศาลหนึ่งประดิษฐานเจ้าพ่อโจวซือกง ส่วนอีกศาลประดิษฐานเจ้าพ่อกวนอู เมื่อคนจีนย้ายไปอยู่ฝั่งพระนคร ศาลเจ้าทั้ง 2 จึงถูกทอดทิ้งทำให้เกิดการชำรุด ทรุดโทรม

     ครั้นเมื่อเจ้าพระยานิกรบดินทร์ เจ้าสัวโต ต้นสกุลกัลยาณมิตร อุทิศที่บ้าน กับซื้อที่ดินเพิ่มเติมเพื่อสร้างวัดกัลยาณมิตร ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2368 ซึ่งเป็นปีที่ 2 ในรัชกาลที่ 3 ชาวจีนฮกเกี้ยน ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของสกุลตันติเวชกุล และ สกุลสิมะเสถียร ได้เดินทางมากราบไหว้ศาลเจ้าทั้ง 2 แห่ง ครั้นเห็นชำรุดทรุดโทรมหนักไม่คิดจะซ่อมแซม แต่ร่วมกันรื้อถอนศาลเจ้าทั้งสอง แล้วสร้างศาลเจ้าใหม่ ในที่เดิมเป็นศาลเดียว แต่จะอัญเชิญเจ้าพ่อโจวซือกง และเจ้าพ่อกวนอูไปประดิษฐานที่ใดไม่ปรากฏหลักฐาน ส่วนศาลเจ้าที่สร้างใหม่ได้เปลี่ยนองค์พระประธานเป็นเจ้าแม่กวนอิม และเรียกชื่อว่า ศาลเจ้าเกียนอันเก๋ง สืบจนถึงปัจจุบัน (ข้อมูลอ้างอิงมาจาก www.thaisamkok.com และ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี)



     หลังจากกราบไหว้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองได้เวลาเยือนขนมโบราณที่มีชื่อว่า "ขนมฝรั่งกุฎีจีน" สำหรับผู้ที่เดินทางมาสถานที่แห่งนี้คงไม่มีใครพลาดที่จะซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้าน ถือเป็นขนมประจำท้องถิ่นหรือชุมชนขนมฝรั่งกุฎีจีน เป็นขนมโบราณลูกผสมจีนกับฝรั่ง ที่คนไทยรู้จักกันตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนประกอบฝักเชื่อม ชาวจีนเชื่อว่าให้ความร่มเย็น น้ำตาลทรายให้ความมั่งคั่ง ลูกพลับอบแห้ง และลูกเกด เป็นผลไม้ที่มีราคาแพง และมีคุณค่าทางด้านอาหารสูง



    ที่สำคัญการทำขนมฝรั่งกุฏีจีนนี้ ยังคงเป็นการสืบทอดวิธีผลิตมาจากโบราณโดยใช้เพียงไข่ แป้งสาลี และน้ำตาลทรายแดงเท่านั้น ไม่มีส่วนผสมของเนยนม ยีสต์ ผงฟู และสารกันบูด เมื่อผ่านขบวนการอบด้วยอุณหภูมิความร้อนที่พอเหมาะจากเตาถ่าน จะได้รสชาติกรอบนอกนุ่มใน หอม หวาน อร่อยกันเลยทีเดียว ปัจจุบันมีร้านที่ใช้กรรมวิธีเดิมๆ แบบโบราณอยู่ 2-3 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ ร้านคุณเล็ก (ซอย 9) ลูกแม่ศรีหลานยาเป้า  ใครที่ไม่เคยลิ้มรสขนมฝรั่งกุฎีจีนอยากให้ลองมาชิมสักครั้ง เพียงแค่นี้ก็ได้เปิดประสบการณ์กับขนมอร่อยที่ไม่สามารถหาทานได้ง่าย   





     เดินเท้ากันต่อประมาณ 10 เมตร ถึงพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน เพื่อแวะดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ เพื่อดับกระหายจากอุณหภูมิที่ค่อนข้างร้อน แต่เปรียบเทียบถ้าเกิดฝนตก คงหมดสนุกกันอย่างแน่นอน สถานที่แห่งนี้เกิดจากทุนส่วนตัว ที่ผู้ก่อตั้งต้องการให้ชุมชนหรือท้องถิ่น มีสถานที่เก็บข้อมูลและเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งใครก็ตามถ้ามีโอกาสเข้ามาดูแล้ว..อย่ามองแบบผ่าน ๆ ไปถ้าไม่พิจารณาก็คงไม่ทราบซึ่งสักเท่าไหร่ แต่อยากให้ลองหันมามองดูแบบอยากเรียนรู้รับรองว่าจะต้องฟินไปกับเรื่องราวในอดีตอย่างแน่นอน พร้อมกันนั้นได้เปิดมุมกาแฟเล็กๆ และของที่ระลึกไว้บริการ ทำให้เราได้นั่งพักพอคลายร้อนได้อย่างสบาย 



     จากนั้นถึงเดินต่อไปยัง เรือนจันทนภาพ เป็นเรือนไม้สักทั้งหลัง ส่วนของเสาบ้านใช้ไม้ตะเคียนทั้งหมด รูปทรงแบบเครื่องสับทรงจั่วจอมแห อายุกว่า 100 ปี โดยมี ป้าแดง หรือ คุณจารุภา จันทนภาพ (ลูกสะใภ้) รับหน้าที่เป็นผู้ดูแลเรือนไทยแห่งนี้สร้างขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในปัจจุบันหน้าต่างหนึ่งบานถูกปิดอย่างถาวร เนื่องจากโดนแรงกระสุนและแรงระเบิดจากเหตุการณ์ กบฎแมนฮัตตัน นอกจากนี้ที่ฝาบ้านและบานกระจกตู้โชว์ ยังคงทิ้งร่องรอยรูกระสุนให้คนรุ่นหลังได้เห็นอีกด้วย



     ได้เวลาเดินทางไปรับประทานอาหารกลางวันที่ร้าน เดอะ ระวีกัลยา ตั้งอยู่เลียบคลองผดุงกรุงเกษม เขตเทเวศร์ จากประวัติความเป็นมา เดิมสถานที่แห่งนี้เป็นเรือนพักอาศัยของพระนมทัต พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นพระนมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นำมาบูรณะใหม่ให้เป็นห้องพักและห้องอาหาร ที่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นไทยโบราณด้วยรูปทรงบ้านไม้ 2 ชั้น โทนสีเขียว-ขาว ล้อมรอบด้วยต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะต้นไทรยักษ์ที่มีอายุกว่า 100 ปี 


     
     ภายในห้องอาหารแห่งนี้ยังคงความเป็นไทยโบราณได้อย่างน่าชื่นชม เพราะตั้งอยู่ภายในรีสอร์ทสไตล์โคโลเนียล ไม่ว่าจะเป็นโทนสีขาวเขียวที่เรียบง่ายให้ความรู้สึกอบอุ่น จึงถูกตกแต่งให้สอดคล้องกัน ทั้งโซฟา หมอนลายผ้าไทย เฟอร์นิเจอร์ไม้ และโต๊ะหินอ่อน เพิ่มความงดงามด้วยจิตรกรรมบนผนัง  มีการเพ้นท์ลวดลายต่างๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงยุคสมัยก่อน และที่สำคัญยังมีการนำบทกลอนมาเขียนไว้ตามฝาผนังให้ได้อ่านเล่นเพลินๆ ทำให้ช่วงเวลาที่รออาหารมาเสริฟ์ ขณะเดียกันตัวเรือนถูกล้อมรอบด้วยกระจกใส ทำให้มองเห็นความร่มรื่นของแมกไม้ เขียวขจีบริเวณด้านนอกห้องอาหาร ซึ่งใครที่อยากเปลี่ยนบรรยากาศ สามารถออกไปทานอาหารพร้อม ๆ กับชมสวนสวย ๆ ได้เช่นกัน



     และใครที่มีโอกาสมาเยือนที่ร้าน เดอะ ระวีกัลยา แห่งนี้ เชื่อว่าต้องได้รับรู้ถึงบรรยากาศที่ย้อนกลับไปในสมัยก่อนเกือบ 100 ปี โดยเฉพาะเมนูอาหารต่าง ๆ  ยังเป็นอาหารไทยขนานแท้ที่หาทานไม่ได้ง่าย ที่สำคัญถ้วยชามที่ใส่อาหารยังคงใช้รูปทรงกับลวดลายแบบโบราณที่ชวนให้อาหารไทยๆ น่าทานยิ่งขึ้น  และมีโอกาสลองแวะมาชิมอาหารที่ร้านแห่งนี้ โทร.02-628-5999 นอกจากนี้ใครอยากพักผ่อนนอนกินบรรยากาศ...ที่นี่ยังมีห้องพักให้ได้ค้างคืนอีกด้วย โดยเฉพาะฝรั่งต่างชาติต่างมาจับจองที่พักเพื่อจะได้สัมผัสความเป็นไทยอย่างใกล้ชิด 



       หลังจากอิ่มหน่ำสำราญกันเต็มที่สมควรแก่เวลาเดินทางไปยังจุดหมายสุดท้ายของทริปนี้คือ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินกลาง มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางเรียนรู้และแหล่งข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมในยุครัตนโกสินทร์ รูปแบบอาคาร 4 ชั้น มีจุดชมวิวในมุมสูงบนชั้น 4 ภายในอาคารจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับรัตนโกสินทร์ ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย มีทั้งสื่อจัดแสดง หุ่นจำลอง การเสนอสื่อเสมือนจริง 4 มิติ สื่อมัลติทัช มัลติมีเดียแอนิเมชั่น แบบ Interactive Self-learning โดยแบ่งการจัดแสดงนิทรรศการเป็น 9 ห้อง ตลอดจนเปิดบริการห้องสมุด ร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึก



     การเข้าชมเลือกได้ทั้ง 2 เส้นทาง ตามความต้องการและความเหมาะสมของเวลา โดยแต่ละเส้นทางใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร-วันศุกร์ เวลา 10.00-19.00 น. รอบเข้าชมทุกๆ 20 นาที ตั้งแต่เวลา 10.00-17.00 น.ราคาบัตร 100 บาท ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สำหรับเด็กที่มีความสูงไม่เกิน 120 เซนติเมตร ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ นักเรียน/นักศึกษา (ไม่เกินระดับปริญญาตรี และศึกษาอยู่ในประเทศไทย) ผู้สูงอายุชาวไทย ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ภิกษุ สามเณร และผู้พิการ เข้าชมฟรี   
 
      จัดเป็นอีกทริปท่องเที่ยวเล็ก ๆ ที่ไม่ควรพลาด เพราะเชื่อว่าแม้แต่คนกรุงเทพฯ ตั้งแต่กำเนิดจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เคยมาเที่ยวในสไตล์แบบนี้ ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เราสามารถมาเปิดประสบการณ์ใหม่ได้ โดยใช้เวลาแค่วันเดียวก็สามารถที่จะเดินเที่ยวชมแบบสบาย ๆ ได้ และรับรองว่าพอกลับไปถึงบ้านความรู้สึกดี ๆ จะยังคงอยู่ไปอีกนาน